โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation and Technology Assistance Program: ITAP) เครือข่ายมหาวิทยาลัยพะเยา (iTAP-UP) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมการแก้ไขปัญหาภาคอุตสาหกรรมในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งยกระดับเทคโนโลยีการผลิตให้กับ SME ไทยอย่างรอบด้าน

วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา ดร.จักรพงษ์ จำรูญ ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมการแก้ปัญหาการขับเคลื่อนหุ่นยนต์กู้ภัยต้นแบบของ บริษัท รีไลแอนท์ เมคคานิคส์ จำกัด จังหวัดพะเยา ในการจัดทำโครงการ “การพัฒนาระบบฐานขับเคลื่อนหุ่นยนต์กู้ภัยสำหรับเป็นต้นแบบของหุ่นยนต์ที่บริษัทจะผลิตในอนาคต” จากการวิเคราะห์ปัญหา พบว่าน้ำหนักที่นำมาผลิตหุ่นยนต์กู้ภัยนั้นมีน้ำมาก ทำให้การเคลื่อนที่ช้า ไม่สามารถเลี้ยวซ้ายหรือขวาได้ถนัด รวมถึงการขึ้น ลงเนิน ยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากจุดศูนย์ถ่วงของหุ่นยนต์ไม่เหมาะสมกับรูปร่าง หลังจากการดำเนินโครงการเสร็จสิ้น หุ่นยนต์กู้ภัยต้นแบบสามารถขับเคลื่อนได้อย่างอิสระ และมีความคล่องตัวมากขึ้น มีความเหมาะสมต่อการปฏิบัติภาระกิจต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยหุ่นยนต์กู้ภัยของไทยในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา ดร.สุทธินันท์ ศรีรัตยาวงค์ ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมการแก้ปัญหาด้านการผลิตของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอเชีย ฟู้ดแอนดริ้งค์ จังหวัดเชียงราย ในการจัดทำโครงการ “การพัฒนาเตาเผาแกลบแบบแก๊สซิไฟเออร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตใบชาอบแห้งในระดับอุตสาหกรรม (Development of the rice husk gasification for improving the efficiency of the roasted tea production in the industry)”แต่เดิมห้างหุ้นส่วนจำกัด เอเชีย ฟู้ดแอนด์ดริ้งค์ ได้ใช้เครื่องคั่วชาแบบถังนอน โดยใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้เพื่อให้ความร้อนกับเครื่องคั่วชาโดยตรง ส่งผลให้ยากแก่การควบคุมอุณหภูมิ และเกิดปัญหามลพิษทางอากาศ (ควันจากการเผาไหม้และคาร์บอนไดออกไซด์) อีกทั้งยังไม่สามารถควบคุมระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และต้องใช้แกลบเป็นจำนวนมากในการเผาไหม้ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น การนำเทคโนโลยีการเผาไหม้แบบแก๊สซิไฟเออร์ โดยแปลงเป็นก๊าซเชื้อเพลิงก่อนนำมาเผาไหม้ในระบบแทนการเผาไหม้โดยตรง ส่งผลให้ใบชาที่ผ่านกระบวนการอบแห้งแล้วมีคุณภาพที่ดี สามารถลดต้นทุนในการผลิตจากการใช้เชื้อเพลิงแกลบที่น้อยลงและลดปัญหามลพิษทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการหรือคณาจารย์ต้องการขอรับการสนับสนุนสามารถ ติดต่อได้ที่ โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation and Technology Assistance Program: ITAP) เครือข่ายมหาวิทยาลัยพะเยา (iTAP-UP) กองบริหารงานวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา โทร 09 1853 2199 คุณศุภฤกษ์ ขาวแดง เจ้าหน้าที่ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี (ITA) หรือ E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.