เกี่ยวกับสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
       สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลเป็น 1 ใน 4 สาขาวิชาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยาและได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยในช่วงปี พ.ศ. 2545 ถึง 2552 สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลได้จัดการเรียนการสอนเฉพาะชั้นปีที่ 1 และ 2 เมื่อนิสิตต้องเรียนในชั้นปีที่ 3 และ 4 ทางสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ (ในขณะนั้น) จะส่งนิสิตไปเรียนที่ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก

      เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ได้ยกฐานะขึ้นเป็น คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลจึงได้จัดให้มีการเรียนการสอนครบทั้ง 4 ชั้นปี โดยในปีการศึกษา 2552 ถึง 2554 สาขาวิชายังคงใช้หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2551) ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 เป็นต้นมา สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลได้จัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทของมหาวิทยาลัยและวิชาชีพโดยใช้หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2555)

       ปัจจุบันสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดการเรียนการสอนทางด้านวิศวกรรมเครื่องกลในระดับปริญญาตรี โดยมี 5 กลุ่มวิชา ดังนี้
       1. กลุ่มวิชาการอนุรักษ์พลังงานและระบบสาธารณูปโภค
       2. กลุ่มวิชาเทคโนโลยีพลังงาน และพลังงานเพื่ออนาคต
       3. กลุ่มวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกลสำหรับการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร
       4. กลุ่มวิชากลศาสตร์ประยุกต์สำหรับการออกแบบอุปกรณ์ออกกำลังกาย และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ
       5. กลุ่มวิชาหุ่นยนต์ อากาศยานไร้คนขับ และนวัตกรรมเพื่อชุมชน


เรียนวิศวกรรมเครื่องกลแล้วได้อะไร?
วิศวกรรมเครื่องกล เป็นสาขาที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์และกฎทางฟิสิกส์เพื่อการประดิษฐ์ การผลิต และการดูแลรักษาระบบเชิงกล เป็นหนึ่งในสาขาทางวิศวกรรมที่เก่าแก่และมีขอบข่ายงานกว้างขวางที่สุด

ลักษณะวิชาชีพของวิศวกรรมเครื่องกล
       1. งานด้านวิศวกรรมยานยนต์และอากาศยาน
       2. งานด้านระบบทำความร้อนและความเย็น
       3. งานด้านพลังงานและโรงต้นกำลังไฟฟ้า
       4. งานออกแบบและซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลในงานอุตสาหกรรม
       5. งานด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และการควบคุมอัตโนมัติ

ความก้าวหน้าในอาชีพ
เมื่อสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกลแล้ว เราสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในงานหลากหลายด้าน เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์, งานด้านพลังงานและระบบสาธารณูปโภค, โรงผลิตไฟฟ้าและเขื่อน, อุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี เป็นต้น จะเห็นได้ว่างานด้านวิศวกรรมเครื่องกลนั้นมีให้เลือกหลากหลาย และวิศวกรเครื่องกลก็ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมาก