1. ปัญหาและข้อมูลเบื้องต้น
ปัจจุบันภัยพิบัติเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่มีการกู้ภัยย่อมเกิดความเสี่ยงต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่อาจถึงขั้นเสียชีวิต จึงควรมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ปฏิบัติหน้าที่นี้แทน เพื่อรับความเสี่ยงแทนผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม แต่หุ่นยนต์ส่วนใหญ่ที่ใช้ในปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาสูง อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงยังมีมูลค่าสูง ทำให้การนำหุ่นยนต์กู้ภัยมาใช้ในประเทศไทยไม่เป็นที่แพร่หลาย ดังนั้น ทาง บริษัท รีไลแอนท์ เมคคานิคส์ จำกัด มีแนวคิดในการจัดสร้างหุ่นยนต์กู้ภัยที่ใช้วัสดุภายในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการใช้งานและอุปกรณ์ รวมถึงอะไหล่ที่จัดหาได้ภายในประเทศ เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อและซ่อมบำรุง
ปัจจุบัน บริษัท รีไลแอนท์ เมคคานิคส์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 119 หมู่ที่ 4 ต.สันป่าม่วง อ.เมืองพะเยา
จ.พะเยา ได้มีการจัดสร้างหุ่นยนต์กู้ภัยขึ้นมา ในปัจจุบันได้ผลิตขึ้นมาทั้งหมด 2 รุ่น ปัญหาที่พบของ บริษัท รีไลแอนท์ เมคคานิกส์ จำกัด ผู้ผลิตหุ่นยนต์กู้ภัย พบว่าน้ำหนักที่มากจากวัสดุที่เป็นเหล็ก ทำให้การเคลื่อนที่ช้า และไม่สามารถเลี้ยวซ้าย หรือ ขวาได้ถนัด ทั้งนี้ยังพบว่าเมื่อยกของหนัก เช่น ถังแก๊ส LPG ทำให้ตัวหุ่นยนต์เอนไปด้านหน้า เนื่องจากจุดศูนย์ถ่วงของหุ่นยนต์ไม่เหมาะสมกับรูปร่างและใช้ในการยกของหนัก รวมถึงการขึ้นลงเนิน ยังไม่สามารถทำได้ จะเห็นได้ว่าปัญหาที่พบดังกล่าวมาจากฐานของหุ่นยนต์ ที่ออกแบบไม่เหมาะสม ดังนั้นทาง บริษัท รีไลแอนท์ เมคคานิกส์ จำกัด จึงได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจาก มหาวิทยาลัยพะเยา นำโดย ดร.จักรพงษ์ จำรูญ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาฐานของหุ่นยนต์กู้ภัยให้มีความเหมาะสม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างหุ่นยนต์กู้ภัยที่เหมาะสมกับภารกิจที่ต้องปฏิบัติและสภาพภูมิประเทศของไทย และยังเป็นการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยหุ่นยนต์กู้ภัยของไทยอีกด้วย

2. วัตถุประสงค์และเป้าหมายโครงการ
     2.1 วัตถุประสงค์ของโครงการ
           เพื่อพัฒนาฐานของหุ่นยนต์กู้ภัย ให้มีการขับเคลื่อนไปด้านหน้า ด้านหลัง และเลี้ยวได้

     2.2 เป้าหมายของโครงการ
           ได้ต้นแบบระบบการขับเคลื่อนที่มีความคล่องตัว รับน้ำหนักรวมได้ 600 กิโลกรัม