การประเมินการใช้ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน
ทวิน จันดา และนพรัตน์ เกตุขาว

            โดยปกติเราสามารถทราบการใช้ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศได้จากฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพอุปกรณ์ไฟฟ้า (ฉลากเบอร์ 5) ดังแสดงในรูปที่ 1 แต่ค่าที่แสดงบนฉลากเป็นค่าที่ยังไม่ถูกต้องมากนัก เพราะค่าดังกล่าวยังไม่ได้นำร้อยละการทำงานของคอมเพรสเซอร์มาคิด การประเมินการใช้ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศที่ถูกต้อง จะทำให้เราทราบค่าใช้จ่ายล่วงหน้า และเมื่อเราต้องการลงทุนในการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศก็สามารถนำมาวิเคราะห์ผลประหยัด หรือระยะเวลาคืนทุนได้

                    

           รูปที่ 2 ฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพอุปกรณ์ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ


วิธีประเมินการใช้พลังงาน

           วิธีการประเมินการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศวิธีนี้ จะคล้ายๆกับวิธีบนฉลากเบอร์ 5 แต่จะนำร้อยการทำงานของคอมเพรสเซอร์มาคิดร่วมด้วย โดยค่าร้อยละการทำงานของคอมเพรสเซอร์จะนำมาจากงานของ รัชนีวรรณ อังกุรบุตร์ และคณะ [1] ดังแสดงในรูปที่ 2

                                 

                                    รูปที่ 2 แสดง Load factor ของเครื่องปรับอากาศแบบ Fixed capacity [1]
                                                       (6.00-6.00 หมายถึงเปิดใช้งาน 24 ชั่วโมง)

         
             จากรูป ค่า Load Factor ก็คือ ค่าร้อยละการทำงานของคอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศโดยเฉลี่ยทั้งปี เราสามารถเลือกใช้ค่า Load Factor ได้ตามช่วงเวลาการใช้งาน และเลือกได้ตามเขตจังหวัดที่ใกล้เคียง

           เมื่อเราได้ค่าร้อยละการทำงานของคอมเพรสเซอร์แล้วก็นำมาแทนค่าลงในสมการดังต่อไปนี้

                            kWh = kW x จำนวนชั่วโมงเปิดใช้งาน x ร้อยละการทำงานของคอมเพรสเซอร์

                โดย       kWh คือ การใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศ

                            kW   คือ กำลังไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศบนฉลากของเครื่องปรับอากาศ

           ทั้งนี้ค่าดังกล่าวจะมีความใกล้มากขึ้น ถ้าขนาดการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศมีค่าใกล้เคียงกับภาระการทำความเย็นที่ห้องต้องการ

ตัวอย่างการคำนวณ
          ห้องทำงานของสำนักงานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ติดตั้งเครื่องปรับอากาศขนาด 12,700 Btu/hr กำลังไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศเท่ากับ 942 วัตต์ และเปิดใช้งานเครื่องปรับอากาศ 8 ชั่วโมงต่อวัน ให้หาค่าไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศทั้งปี

วิธีทำ  จากข้อมูลเราสามารถอ่านค่า Load factor ได้เท่ากับ 0.68 นำไปแทนค่าลงในสมการ

                       kWh      = kW x จำนวนชั่วโมงเปิดใช้งาน x ร้อยละการทำงานของคอมเพรสเซอร์

                                    = 942/1000 kW x 8 ชั่วโมง/วัน x 0.68

                                    = 5.12 kWh/วัน

             สมมุตติว่ามีการใช้งานเครื่องปรับอากาศ 30 วันต่อเดือน และค่าไฟฟ้าต่อหน่วยของสำนักงานนี้มีค่าเท่ากับ 4 บาท/kWh ดังนั้นค่าไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศต่อเดือนจะคำนวณได้ดังนี้

                 ค่าไฟฟ้าต่อปี  = 5.12 kWh/วัน x 30 วันต่อเดือน x 12 เดือนต่อปี x 4 บาท/หน่วย

                                    = 7,372.8 บาทต่อปี            

เอกสารอ้างอิง
[1] รัชนีวรรณ อังกุรบุตร์ ,ทวิน จันดา , สิทธิพร  ศรีเมือง และ นพรัตน์ เกตุขาว (2561). การประเมินการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนสำหรับประเทศไทย ,การประชุมวิชาการเครือข่ายพลังงานแห่งประเทศไทยครั้งที่ 14, 13 – 15 มิถุนายน 2561 ณ โนโวเทล ระยอง

หมายเหตุ: ท่านสามารถอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่เวบไซต์สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยพะเยา
และติดตามบทความดีๆได้ที่ Facebook: Energy4You