SEER คืออะไร
สิทธิพร  ศรีเมือง และ นพรัตน์ เกตุขาว

          เครื่องปรับอากาศที่จะประหยัดพลังงานได้มาก ก็คือเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง โดยทั่วไปเราจะทราบค่าประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศได้จากฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ที่ติดอยู่กับเครื่องปรับอากาศ ซึ่งปัจจุบันนั้นมีการแสดงค่าประสิทธิภาพบนฉลาก 2 แบบด้วยกันคือแบบ EER และแบบ SEER ดังแสดงในรูปที่ 1

        
                         รูปที่ 1 ฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพอุปกรณ์ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ (ที่มา: กระทรวงพลังงาน)

                ในอดีตเราจะนิยมแสดงค่าประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศด้วยค่า EER เป็นหลัก แต่เมื่อเริ่มมีการนำเครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์มาใช้ จึงทำให้ต้องมีการทบทวนวิธีการคำนวณค่าประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศกันใหม่ ซึ่งค่า EER นั้นไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในการบอกประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์ เนื่องจากประสิทธิภาพของเครื่องแบบอินเวอร์เตอร์นั้นจะมีค่าสูงขึ้นมากเมื่อระบบอินเวอร์เตอร์ทำงาน แต่เครื่องปรับอากาศทั่วไปนั้นจะมีประสิทธิภาพที่ไม่แตกต่างกันมากนักในระหว่างที่เครื่องทำงาน

               ค่า SEER (Seasonal Energy Efficiency Ratio) หรือภาษาไทยเรียกว่า ค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานตามฤดูกาลของเครื่องปรับอากาศ สามารถนำมาใช้บอกประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศได้ทั้งแบบทั่วไป และแบบอินเวอร์เตอร์ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานสามารถเทียบประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศทั้งสองแบบได้อย่างตรงไปตรงมา แต่โดยทั่วไปแล้ว เครื่องปรับอากาศแบบทั่วไปเครื่องเดียวกัน ถ้าคำนวณค่าประสิทธิภาพด้วยวิธี SEER ก็มักจะได้ค่าสูงกว่าการคำนวณด้วยวิธี EER ประมาณ 5-6%

               การทดสอบสมรรถนะของเครื่องปรับอากาศนั้นจะทดสอบตามมาตรฐานต่างๆ เช่น ตามข้อกำหนดโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ที่กำหนดให้ทดสอบที่สภาวะอากาศเข้าคอยล์เย็นที่ 27oCDB/19oCWB และอุณหภูมิอากาศก่อนเข้าคอนเดนซิ่งที่ 35oCDB/ 24oCWB ตามลำดับ เมื่อได้ผลการทดสอบแล้วก็สามารถนำค่ามาคำนวณ EER หรือ SEER ก็ได้ตามที่ต้องการ โดยค่า EER สามารถคำนวณได้ดังสมการที่ 1 ดังนี้

                                              EER    =    ขีดความสามารถในการทำความเย็น (Btu/hr) / กำลังไฟฟ้าที่ป้อนเข้าเครื่องปรับอากาศ (Watt)                      (1)

              โดยทั่วไปแล้วสมรรถนะของเครื่องปรับอากาศจะมีค่าไม่คงที่ โดยจะมีค่าแตกต่างกันออกไปตามอุณหภูมิอากาศภายนอก เมื่ออุณหภูมิอากาศลดลง เครื่องปรับอากาศก็จะกินไฟน้อยลงและให้ความเย็นมากขึ้น ดังแสดงเป็นตัวอย่างในรูปที่ 2 ซึ่งวิธี SEER นี้จะนำอิทธิพลของอากาศภายนอกมาใช้ในการคำนวณประสิทธิภาพด้วย โดยจะคำนวณความเย็นและพลังงานไฟฟ้าแยกออกไปตามแต่ละอุณหภูมิอากาศ แล้วจึงนำค่าที่ได้มารวมกันแล้วนำมาคำนวณค่า SEER อีกที ดังสมการที่ 2 ดังนี้

                                             SEER    =    ผลรวมปริมาณความเย็นที่ได้ (Btu) / ผลรวมพลังงานไฟฟ้าที่เครื่องปรับอากาศใช้ (Wh)                                 (2)

                                     

                                                รูปที่ 2 แสดงขีดความสามารถในการทำความเย็น (∅) กำลังไฟฟ้าที่ป้อนเข้า (P)
                                                 ของเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนทั่วไป (ที่มา: ISO 16358-1:2013)

               ปริมาณการทำความเย็น (Btu) ที่ได้ และพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ (Watt-hour) ของเครื่องปรับอากาศ จะคิดเฉพาะช่วงเวลาที่คาดว่าจะมีการใช้งานเครื่องปรับอากาศ ซึ่งก็คือช่วงที่อากาศภายนอกมีอุณหภูมิระหว่าง 21oC -35oC โดย ISO 16358-1:2013 ได้แสดงกลุ่มชั่วโมงอุณหภูมิที่นำมาใช้ในการคำนวณหาค่าปริมาณการทำความเย็น และพลังงานไฟฟ้าไว้แล้ว ดังแสดงในตารางที่ 1

                 ตัวอย่างเช่น เครื่องปรับอากาศ Carrier (แบบ Fixed Capacity) รุ่น Everest ที่มีขนาดการทำความเย็น 9,386 Btu/hr มีกำลังไฟฟ้าเท่ากับ 730 Watt และเมื่อคำนวณค่าปริมาณการทำความเย็น (Btu) และค่าพลังงานไฟฟ้า (Watt-hour) แยกตามแต่ละกลุ่มอุณหภูมิ ด้วยวิธีตามมาตรฐาน ISO 16358-1:2013 ก็จะได้ค่าดังแสดงในตารางที่ 2

              จากตารางที่ 2 เมื่อรวมปริมาณการทำความเย็นและพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมด ก็จะสามารถหาค่า SEER ได้ดังนี้

                                                         SEER    =             ปริมาณการทำความเย็น (Btu) รวม / พลังงานที่ใช้รวม (Wh)
                                                                    =             6,878,990  Btu / 506,543 Wh
                                                                    =             13.58  Btu/Wh

              แต่ถ้าคำนวณด้วยวิธี EER ก็จะได้ค่า EER ดังนี้

                                                        EER       =             9,386 Btu/hr / 730 Watt
                                                                    =             12.86  Btu/hr/W

             จากผลการคำนวณ จะสังเกตเห็นว่าค่า SEER จะมีค่าสูงกว่า EER อยู่ 5.3%

        จากที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถสรุปได้ดังนี้คือ
               1. การทดสอบประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศอาจจะใช้วิธีเดียวกัน แต่การแสดงค่าประสิทธิภาพแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ EER และ SEER
               2. เราจะเอาค่า SEER มาเปรียบเทียบกับ EER ไม่ได้ แต่โดยส่วนมากแล้ว สำหรับเครื่องปรับอากาศทั่วไป เมื่อคำนวณแบบ SEER จะได้ค่าสูงกว่าแบบ EER ประมาณ 5-6%
               3. การคำนวณแบบ SEER ใช้ได้กับทั้งเครื่องปรับอากาศทั่วไปและแบบอินเวอร์เตอร์ แต่เครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์จะไม่คำนวณแบบ EER
               4. ถ้าจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศ ต้องเปรียบเทียบที่ค่าแบบเดียวกัน โดยให้ดูว่าเครื่องไหนที่มีค่าสูงสุด เครื่องนั้นก็จะประหยัดไฟฟ้ามากกว่า

         หมายเหตุ: ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์คำนวณค่า SEER ได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1O-MN-Gt1ImwBCMd7ymDWR9rIYWnLBGJn/view?usp=sharing

 เอกสารอ้างอิง
             ISO 16358-1:2013(2013), Air-Cooled Air Conditioners and Air-To-Air Heat Pumps — Testing and Calculating Methods for Seasonal Performance Factors — Part 1: Cooling Seasonal Performance Factor และ ISO 16358-1:2013/Cor.1:2013.

หมายเหตุ: ท่านสามารถอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่เวบไซต์สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยพะเยา
และติดตามบทความดีๆได้ที่ Facebook: Energy4You