IMAGE iTAP-UP ยกระดับเทคโนโลยีการผลิตให้กับ SME ไทยอย่างรอบด้าน
Thursday, 16 August 2018
โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation and Technology Assistance Program:... Read More...
IMAGE CDIO-Cascading Programme 2017
Friday, 24 November 2017
วันที่ 12 – 16 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ดร.นพรัตน์ เกตุขาว... Read More...
IMAGE Workshop จัดทำยุทธศาสตร์
Thursday, 12 July 2018
เมื่อวันที่ 27-29 ผศ.ดร.นพรัตน์ เกตุขาว... Read More...
IMAGE การรับรองปริญญา วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560)
Wednesday, 28 November 2018
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา นำโดย... Read More...

SEER คืออะไร
สิทธิพร  ศรีเมือง และ นพรัตน์ เกตุขาว

          เครื่องปรับอากาศที่จะประหยัดพลังงานได้มาก ก็คือเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง โดยทั่วไปเราจะทราบค่าประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศได้จากฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ที่ติดอยู่กับเครื่องปรับอากาศ ซึ่งปัจจุบันนั้นมีการแสดงค่าประสิทธิภาพบนฉลาก 2 แบบด้วยกันคือแบบ EER และแบบ SEER ดังแสดงในรูปที่ 1

        
                         รูปที่ 1 ฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพอุปกรณ์ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ (ที่มา: กระทรวงพลังงาน)

                ในอดีตเราจะนิยมแสดงค่าประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศด้วยค่า EER เป็นหลัก แต่เมื่อเริ่มมีการนำเครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์มาใช้ จึงทำให้ต้องมีการทบทวนวิธีการคำนวณค่าประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศกันใหม่ ซึ่งค่า EER นั้นไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในการบอกประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์ เนื่องจากประสิทธิภาพของเครื่องแบบอินเวอร์เตอร์นั้นจะมีค่าสูงขึ้นมากเมื่อระบบอินเวอร์เตอร์ทำงาน แต่เครื่องปรับอากาศทั่วไปนั้นจะมีประสิทธิภาพที่ไม่แตกต่างกันมากนักในระหว่างที่เครื่องทำงาน

               ค่า SEER (Seasonal Energy Efficiency Ratio) หรือภาษาไทยเรียกว่า ค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานตามฤดูกาลของเครื่องปรับอากาศ สามารถนำมาใช้บอกประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศได้ทั้งแบบทั่วไป และแบบอินเวอร์เตอร์ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานสามารถเทียบประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศทั้งสองแบบได้อย่างตรงไปตรงมา แต่โดยทั่วไปแล้ว เครื่องปรับอากาศแบบทั่วไปเครื่องเดียวกัน ถ้าคำนวณค่าประสิทธิภาพด้วยวิธี SEER ก็มักจะได้ค่าสูงกว่าการคำนวณด้วยวิธี EER ประมาณ 5-6%

               การทดสอบสมรรถนะของเครื่องปรับอากาศนั้นจะทดสอบตามมาตรฐานต่างๆ เช่น ตามข้อกำหนดโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ที่กำหนดให้ทดสอบที่สภาวะอากาศเข้าคอยล์เย็นที่ 27oCDB/19oCWB และอุณหภูมิอากาศก่อนเข้าคอนเดนซิ่งที่ 35oCDB/ 24oCWB ตามลำดับ เมื่อได้ผลการทดสอบแล้วก็สามารถนำค่ามาคำนวณ EER หรือ SEER ก็ได้ตามที่ต้องการ โดยค่า EER สามารถคำนวณได้ดังสมการที่ 1 ดังนี้

                                              EER    =    ขีดความสามารถในการทำความเย็น (Btu/hr) / กำลังไฟฟ้าที่ป้อนเข้าเครื่องปรับอากาศ (Watt)                      (1)

              โดยทั่วไปแล้วสมรรถนะของเครื่องปรับอากาศจะมีค่าไม่คงที่ โดยจะมีค่าแตกต่างกันออกไปตามอุณหภูมิอากาศภายนอก เมื่ออุณหภูมิอากาศลดลง เครื่องปรับอากาศก็จะกินไฟน้อยลงและให้ความเย็นมากขึ้น ดังแสดงเป็นตัวอย่างในรูปที่ 2 ซึ่งวิธี SEER นี้จะนำอิทธิพลของอากาศภายนอกมาใช้ในการคำนวณประสิทธิภาพด้วย โดยจะคำนวณความเย็นและพลังงานไฟฟ้าแยกออกไปตามแต่ละอุณหภูมิอากาศ แล้วจึงนำค่าที่ได้มารวมกันแล้วนำมาคำนวณค่า SEER อีกที ดังสมการที่ 2 ดังนี้

                                             SEER    =    ผลรวมปริมาณความเย็นที่ได้ (Btu) / ผลรวมพลังงานไฟฟ้าที่เครื่องปรับอากาศใช้ (Wh)                                 (2)

                                     

                                                รูปที่ 2 แสดงขีดความสามารถในการทำความเย็น (∅) กำลังไฟฟ้าที่ป้อนเข้า (P)
                                                 ของเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนทั่วไป (ที่มา: ISO 16358-1:2013)

               ปริมาณการทำความเย็น (Btu) ที่ได้ และพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ (Watt-hour) ของเครื่องปรับอากาศ จะคิดเฉพาะช่วงเวลาที่คาดว่าจะมีการใช้งานเครื่องปรับอากาศ ซึ่งก็คือช่วงที่อากาศภายนอกมีอุณหภูมิระหว่าง 21oC -35oC โดย ISO 16358-1:2013 ได้แสดงกลุ่มชั่วโมงอุณหภูมิที่นำมาใช้ในการคำนวณหาค่าปริมาณการทำความเย็น และพลังงานไฟฟ้าไว้แล้ว ดังแสดงในตารางที่ 1

                 ตัวอย่างเช่น เครื่องปรับอากาศ Carrier (แบบ Fixed Capacity) รุ่น Everest ที่มีขนาดการทำความเย็น 9,386 Btu/hr มีกำลังไฟฟ้าเท่ากับ 730 Watt และเมื่อคำนวณค่าปริมาณการทำความเย็น (Btu) และค่าพลังงานไฟฟ้า (Watt-hour) แยกตามแต่ละกลุ่มอุณหภูมิ ด้วยวิธีตามมาตรฐาน ISO 16358-1:2013 ก็จะได้ค่าดังแสดงในตารางที่ 2

              จากตารางที่ 2 เมื่อรวมปริมาณการทำความเย็นและพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมด ก็จะสามารถหาค่า SEER ได้ดังนี้

                                                         SEER    =             ปริมาณการทำความเย็น (Btu) รวม / พลังงานที่ใช้รวม (Wh)
                                                                    =             6,878,990  Btu / 506,543 Wh
                                                                    =             13.58  Btu/Wh

              แต่ถ้าคำนวณด้วยวิธี EER ก็จะได้ค่า EER ดังนี้

                                                        EER       =             9,386 Btu/hr / 730 Watt
                                                                    =             12.86  Btu/hr/W

             จากผลการคำนวณ จะสังเกตเห็นว่าค่า SEER จะมีค่าสูงกว่า EER อยู่ 5.3%

        จากที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถสรุปได้ดังนี้คือ
               1. การทดสอบประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศอาจจะใช้วิธีเดียวกัน แต่การแสดงค่าประสิทธิภาพแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ EER และ SEER
               2. เราจะเอาค่า SEER มาเปรียบเทียบกับ EER ไม่ได้ แต่โดยส่วนมากแล้ว สำหรับเครื่องปรับอากาศทั่วไป เมื่อคำนวณแบบ SEER จะได้ค่าสูงกว่าแบบ EER ประมาณ 5-6%
               3. การคำนวณแบบ SEER ใช้ได้กับทั้งเครื่องปรับอากาศทั่วไปและแบบอินเวอร์เตอร์ แต่เครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์จะไม่คำนวณแบบ EER
               4. ถ้าจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศ ต้องเปรียบเทียบที่ค่าแบบเดียวกัน โดยให้ดูว่าเครื่องไหนที่มีค่าสูงสุด เครื่องนั้นก็จะประหยัดไฟฟ้ามากกว่า

         หมายเหตุ: ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์คำนวณค่า SEER ได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1O-MN-Gt1ImwBCMd7ymDWR9rIYWnLBGJn/view?usp=sharing

 เอกสารอ้างอิง
             ISO 16358-1:2013(2013), Air-Cooled Air Conditioners and Air-To-Air Heat Pumps — Testing and Calculating Methods for Seasonal Performance Factors — Part 1: Cooling Seasonal Performance Factor และ ISO 16358-1:2013/Cor.1:2013.

หมายเหตุ: ท่านสามารถอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่เวบไซต์สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยพะเยา
และติดตามบทความดีๆได้ที่ Facebook: Energy4You